Class Diagrams (ตอนที่ 1) ส่วนประกอบของ class

ในการวิเคราะห์และออกแบบระบบด้วย UML นั้น (ดูเพิ่ม UML)  ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการออกแบบโครงสร้างของข้อมูลและการทำงานของโปรแกรม   ในแนวคิดของการพัฒนาระบบด้วย OOP (Object Oriented Programming)  นั้นเรามองข้อมูลและโปรแกรมเป็นหน่วยเดียวกันที่เรียกว่าคลาส (Class)  การออกแบบองค์ประกอบของคลาสซึ่งประกอบด้วยข้อมูลที่ประกอบขึ้นเป็นคลาสซึ่งเรียกว่าแอตทริบิวท์ (attribute) และส่วนของโปรแกรมหรือหน้าที่การทำงานของคลาสซึ่งเรียกว่าโอเปอเรชั่น (operation)  รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคลาสต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นระบบนั้น สามารถทำได้ด้วยการเขียนคลาสไดอะแกรม (class diagram)  โดยคลาสไดอะแกรม จะมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

คลาส (Class)
ส่วนประกอบหลักของคลาสไดอะแกรมก็คือคลาสต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นระบบ  คลาสอาจจะเป็นตัวแทนของ คน สถานที่ เหตุการณ์  หรือสิ่งต่าง ๆ  ซึ่งเป็นส่วนประกอบของระบบที่เรากำลังวิเคราะห์และออกแบบอยู่ ในแต่ละคลาสจะมีการจัดเก็บข้อมูลและมีวิธีในการจัดการกับข้อมูลที่จัดเก็บ โดยคลาสจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน โดยชื่อคลาสจะอยู่ส่วนบนสุด และแอตทริบิวต์จะอยู่ตรงกลาง และโอเปอเรชั่นจะอยู่ล่างสุด (ดูรูป)

class2

แอตทริบิวต์ (Attribute)
แอตทริบิวต์คือข้อมูลที่เป็นคุณสมบัติของคลาส ซึ่งก็คือข้อมูลที่เราสนใจจะจัดเก็บและนำมาใช้ในระบบ  เราสามารถกำหนดระดับของการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ โดยการใส่เครื่องหมายดังต่อไปนี้ไว้ข้างหน้าของแอตทริบิวต์
(+)   สาธารณะ (public) หมายถึงการอนุญาตให้คลาสอื่น ๆ สามารถมองเห็นและใช้งานข้อมูลที่อยู่ในแอตทริบิวต์นี้ได้
(#)   ป้องกัน (protected) หมายถึงการอนุญาตให้คลาสอื่น ๆ สามารถมองเห็นแอตทริบิวต์นี้ได้แต่ไม่อนุญาตให้ใช้งานแอตทริบิวต์นี้ได้
(-)    ซ่อนไว้ (hidden) หมายถึงคลาสอื่น ๆ ไม่สามารถที่จะมองเห็นและใช้งานแอตทริบิวต์นี้ได้ en

โดยทั่วไแล้วเราจะกำหนดให้แอตทริบิวต์เป็นค่าที่ถูกซ่อนไว้ โดยการระบุเครื่องหมาย – ไว้ข้างหน้า attribute (ดูรูปข้างบนประกอบ)

โอเปอเรชั่น (Operation)
โอเปอเรชั่นก็คือหน้าที่การทำงานที่คลาสสามารถกระทำได้  โดยโอเปอเรชั่นจะตามด้วยเครื่องหมาย () ต่อท้ายแต่ละโอเปอเรชั่น ซึ่งหมายถึงการระบุพารามีเตอร์ (parameter) ที่จะใช้ส่งผ่านกันระหว่างโอเปอเรชั่นไว้ใน () ถึงแม้บางโอเปอเรชั่นอาจจะไม่มีพารามีเตอร์ที่ต้องส่งแต่เราก็ต้องใส่เครื่องหมาย () ไว้เช่นกัน  โดยปล่อยให้ค่ายภายใน () เป็นค่าว่างไว้

โอเปอเรชั่นจะมีสถานะเป็นสาธารณะ (public) เสมอ โดยการระบุเครื่องหมาย  + ไว้ที่ข้างหน้าของแต่ละ operation เสมอ (ดูรูปข้างบน)

ในตอนต่อไปจะพูดถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงคลาสต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ประกอบขึ้นเป็นคลาสไดอะแกรม

 

เขียนโดย    ชาคริต กุลไกรศรี

About ชาคริต กุลไกรศรี

ชาคริต กุลไกรศรี ประธานนักศึกษาคณะวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นที่ 5
This entry was posted in System Analysis and tagged , . Bookmark the permalink.